เมืองลำปางเป็นบ้านที่มีความสุขของทุกคน " A Happy Home For All "
บ่ายวันอังคารที่ 8 มีนาคม 2565 ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง มอบหมายให้เลขานุการนายกเทศมนตรี ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนบ้านหน้าค่าย พร้อมด้วย นายแพทย์รักษ์ รักษ์ตระกูล นายแพทย์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลลำปาง เพื่อตรวจเช็คและติดตามอาการของผู้ป่วยติดเตียง ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งลำไส้ ตามนโยบาย “หมอประจำตัว ครอบครัวละ 3 คน” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
แนวคิดหมอประจำตัว 3 คน คือการต้องการออกแบบระบบบริการให้คนไทยทุกคน ทุกครอบครัวมีหมอดูแล ให้บริการในทุกระดับของการเจ็บป่วย ตั้งแต่การเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ดูแลได้ภายในครอบครัว และชุมชน การเจ็บป่วยที่เพิ่มระดับความต้องการบริการสุขภาพและการแพทย์ขึ้นมาเล็กน้อย ต้องการการดูแลในสถานบริการปฐมภูมิใกล้บ้านในระดับตำบล และการเจ็บป่วยที่ต้องการการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล หรือการดูแลในระดับอำเภอ ต่อไปถึงระดับจังหวัด โดยกำหนดหน้าตาของหมอทั้ง 3 คน 3 ระดับไว้ดังนี้
หมอคนที่ 1 คือ อสม. ทำหน้าที่เป็นหมอประจำบ้าน โดยวางแผนการทำงานของ อสม. ใหม่ แบ่งเขตการรับผิดชอบ อสม. 1 คน รับผิดชอบประชาชน 8-15 หลังคาเรือน ให้การดูแลเบื้องต้น ทำหน้าที่หลักเชื่อมประสานกับหมอคน 2 และหมอคนที่ 3
หมอคนที่ 2 คือ หมอสาธารณสุข หมายถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานบริการปฐมภูมิ ทั้ง รพ.สต., PCC, คลินิกชุมชนอบอุ่น ครอบคลุมบุคลากรทุกสาชาวิชาชีพทั้งพยาบาล เภสัชกร นักสาธารณสุขชุมชน และวิชาชีพอื่นๆ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ 1 คน ไม่ว่าจะวิชาชีพใดก็ตามรับผิดชอบประชากร 1,250 คน หรือ 1-3 หมู่บ้าน นอกจากมีหน้าที่ให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพแล้ว ยังต้องเชื่อมต่อประสานงานกับ อสม. และหมอคนที่ 3
หมอคนที่ 3 คือ หมอเวชปฏิบัติครอบครัว หมายถึงบุคลากรในวิชาชีพแพทย์ที่ผ่านการเทรนเวชปฏิบัติครอบครัว (FamMed) โดยกำหนดให้หมอ 1 คน รับผิดชอบประชากร 10,000 คน หรือ 1-3 ตำบล ต้องประสานเชื่อมต่อกับหมอคนที่ 1 และ 2 อย่างใกล้ชิด นอกจากดูแลผู้ป่วยแล้วต้องดูแลและทำให้หมอคนที่ 1 และ 2 มีความรู้และทักษะในการทำงานดีขึ้น