เมืองลำปางเป็นบ้านที่มีความสุขของทุกคน " A Happy Home For All "
วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ณ ห้องประชุมพุทธรักษา กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครลำปาง ดร.กิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ปลัดเทศบาล และหัวหน้าส่วนการงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรณี “ตลาดรถไฟ” ที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาอยู่ในสื่อออนไลน์อยู่ขณะนี้
.
ผลการประชุมสรุปว่า เทศบาลนครลำปาง ไม่ได้ลอยแพ แม่ค้าพ่อค้าในตลาดรถไฟ “ยืนยัน” ยังคงค้าขายได้ตามปกติเหมือนเดิม จนกว่าข้อพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ เทศบาลนครลำปางจะยุติ เตรียมยื่นหนังสืออุทธรณ์ขอจ่ายค่าเช่าให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยตามสัญญาฉบับหลังสุดที่ทำกันมานานกว่า 11 ปี ระบุจะขอต่อสัญญาไม่น้อยกว่า 3 ปีเพื่อพัฒนาตลาดในอนาคต ส่วนประเด็นค่าปรับ 1.7 ล้านบาท ยินยอมเข้าสู่กระบวนการของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เทศบาลนครลำปางไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ทำตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด
.
ดร.กิตติภูมิ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เทศบาลนครลำปาง ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินบริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟ เพื่อจัดทำสถานที่จำหน่ายของที่ระลึก อาหาร และสินค้าพื้นเมืองของจังหวัดลำปาง กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยสัญญาฉบับแรกลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2544 มีกำหนดอายุ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2544 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2547 และเมื่อครบสัญญา ก็จะมีการต่อสัญญาเช่าทุกปี คราวละ 1 ปี สัญญาฉบับสุดท้าย ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2559
.
ในปี 2560 การรถไฟแห่งประเทศไทย ส่งหนังสือ ด่วนที่สุด บว.58/3862/2559 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2560 เรื่อง ให้เทศบาลนครลำปางชำระค่าปรับ ฐานกระทำการให้ผิดไปจากลักษณะทำประโยชน์ตามเงื่อนไขสัญญาที่สถานีลำปาง เนื่องจากได้ทำการปลูกสร้างเพิงร้านค้าแบบชั่วคราวเพื่อทำการจำหน่ายอาหาร ในลักษณะศูนย์อาหาร จึงเป็นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่าผิดไปจากเงื่อนไขตามสัญญาเช่าที่ดิน จึงคิดค่าปรับตามสัญญาเช่าที่ดิน ขอให้เทศบาลนครลำปางนำเงินค่าปรับมาชำระให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่สถานีลำปาง ภายใน 15 วัน พร้อมทั้งให้เทศบาลฯ ดำเนินการแก้ไขพื้นที่เช่าให้อยู่ในสภาพคงเดิม และใช้ประโยชน์ตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าที่ดิน และเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินให้กับเทศบาลฯ ต่อไป
.
ในวันที่ 27 มิถุนายน 2561 การรถไฟแห่งประเทศไทย อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ประโยชน์ และต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่สถานีลำปาง ตามที่เทศบาลนครลำปางต้องการ พร้อมกับต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินให้กับเทศบาล ต่อไปอีก 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2562 และขอให้เทศบาลนำเงินค่าเช่าต่าง ๆ ไปชำระให้กับการรถไฟฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เทศบาลนครลำปาง จึงได้ทำหนังสือหารือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ แต่ทางจังหวัดลำปาง ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมา
.
ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือที่ บส.61/1321/2562 ลงวันที่ 11 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา เรื่อง บอกยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินที่สถานีรถไฟลำปาง อ้างถึงหนังสือที่ส่งมาก่อนหน้านั้น ระบุว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แจ้งเตือนให้เทศบาลนครลำปางชำระค่าเช่า ค่าต่าง ๆ ดังนี้
1.ค่าเช่าปีที่1 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2559 ถึง 31 ส.ค. 2560 เป็นเงิน 559,096 บาท
2.ค่าเช่าปีที่2 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 ถึง 31 ส.ค. 2561 เป็นเงิน 587,065 บาท
3.ค่าเช่าปีที่3 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2561 ถึง 31 ส.ค. 2562 เป็นเงิน 616,047 บาท รวมเป็นเงิน 1,762,668 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 เป็นต้นไป พร้อมทั้งขอให้เทศบาลนครลำปางไปชำระค่าเช่าต่าง ๆ เป็นเงินตามจำนวนดังกล่าว ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2562 และขอให้ยกเลิกใช้ประโยชน์พร้อมขนย้ายทรัพย์สิน รวมทั้งบริวารออกจากพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
.
“ผมขอยืนยันกับพี่น้องประชาชน พ่อค้า แม่ค้าตลาดรถไฟ ณ ที่นี้เลยว่า จะไม่ทำให้ทุกท่านเดือดร้อน ทุกคนยังคงค้าขายในตลาดรถไฟแห่งนี้ได้เหมือนเดิม เพราะเทศบาลนครลำปาง มีหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนทำมาค้าขายได้ในพื้นที่ โดยไม่แสวงหาผลประโยชน์หรือกำไร ส่วนเรื่องของคดีความหรือการฟ้องร้องใด ๆ เป็นเรื่องของเทศบาลนครลำปาง กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่จะต้องดำเนินการตามมติของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการเดินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเทศบาลนครลำปางยินยอมพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการตามระเบียบ” ดร.กิตติภูมิ กล่าว
.
ดร.สมเกียรติ อัญชนา รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้สอบถามถึงความต้องการของพ่อค้าแม่ค้าที่มาเข้าร่วมประชุมแล้วพบว่า พ่อค้าแม่ค้าทั้งหมดยังมีความต้องการที่จะทำการค้าขายในตลาดรถไฟต่อไป จึงกล่าวต่อที่ประชุมว่า ตลาดรถไฟแห่งนี้ ถือเป็นตลาดที่มีเสน่ห์ มีอาหารการกินที่สะอาด อร่อย เหมาะสำหรับชาวลำปางและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนยามค่ำคืน ที่สำคัญคือ ถือเป็นแหล่งทำมาหากินของพ่อค้าแม่ค้าและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เทศบาลนครลำปาง จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปโดยทำหนังสืออุทธรณ์ไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้พิจารณาค่าเช่าในราคาเดิมตามสัญญาฉบับสุดท้าย (คือ 286,389 บาทต่อปี) ในการนี้ เทศบาลนครลำปาง ได้ทำหนังสือหารือไปยังจังหวัดแล้วแต่ยังไม่ได้รับคำตอบและยังหาข้อยุติไม่ได้ จึงไม่สามารถดำเนินการจ่ายเงินค่าเช่าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยโดยพลการได้ เนื่องจากการจะจ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์นั้น ต้องมีหลักฐานเอกสารรองรับที่ชัดเจนและถูกต้องตามระเบียบเท่านั้น
.
“อย่าคิดว่า เทศบาลนครลำปางจะทิ้งประชาชน แต่ขอให้เข้าใจว่า เทศบาลนครลำปางอยู่ข้างประชาชน 100 % ดังนั้นขอให้พ่อค้าแม่ค้าสบายใจได้ว่า ยังคงสามารถขายของในตลาดรถไฟได้เหมือนเดิม ขอให้ประชาชนสบายใจได้ และเพื่อให้คลายความวิตกกังวลใจในเรื่องนี้ ทางเทศบาลยินดีที่จะส่งสำเนาการขออุทธรณ์คำสั่งการรถไฟแห่งประเทศไทยให้พ่อค้าแม่ขายต่อไป” ดร.สมเกียรติ อัญชนา กล่าว