เมืองลำปางเป็นบ้านที่มีความสุขของทุกคน " A Happy Home For All "

ศูนย์รวมข่าวสาร
ข่าวประชาสัมพันธ์

“เทศกาลท่องเที่ยวเมืองเก่าเขลางค์นคร”

เทศบาลนครลำปาง เชิญชวนชาวลำปางและนักท่องเที่ยวที่สนใจเที่ยวสไตล์เมืองเก่า มาสัมผัสบรรยากาศเมืองเก่าภายในงาน “เทศกาลท่องเที่ยวเมืองเก่าเขลางค์นคร” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม 2562 ณ ชุมชนเมืองเก่าท่ามะโอ “ชมย่านเก่าไฮโซล้านนาลำปาง หลากหลายเชื้อชาติ ซึมซับกลิ่นไอของประวัติศาสตร์เมื่อร้อยกว่าปี ที่บ่งบอกถึงความความรุ่งเรืองของชุมชนที่เป็นแหล่งทำสัมปทานป่าไม้ใหญ่ของประเทศในอดีต สัมผัสความงดงามของสถาปัตยกรรมบ้านไม้เก่าสไตล์ฝรั่งและพม่า พร้อมเรียนรู้ภูมิปัญญาชุมชน”

สถานที่จัดงาน : วัดประตูป่องและบริเวณถนนสายวัฒนธรรมท่ามะโอ และชุมชนเมืองเก่าท่ามะโอ

ศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2562 : พิธีเปิดเทศกาลท่องเที่ยวเมืองเก่าเขลางค์นคร ตั้งแต่เวลา 17.00น. เป็นต้นไป เพลิดเพลินกับบรรยากาศยามแลง แต่งตั๋วแบบบะเก่า นุ่งซิ่น ใส่เต่วสะดอ มาฟังเรื่องเล่ากว่าร้อยปี๋ มาผ่อวิถีคนเมืองเก่า มาแอ่วถนนวัฒนธรรม กิ๋นข้าวแลงขันโตก ผ่อก๋านแสดงม่วนๆ มาทำกิจกรรมฮ่วมกั๋น

เสาร์- อาทิตย์ ที่ 6-7 กรกฎาคม 2562 : กิจกรรมบริเวณงานตลอดตั้งแต่ 07.00 -13.00 น. สัมผัสบรรยากาศพื้นเมือง เตวแอ่วกาดเช้ากาดเวียงเหนือ ผ่อวิถีคนเมืองเก่า กิ๋นช้าๆ อู้ช้าๆ พร้อมเรียนรู้กิจกรรมสาธิตภูมิปัญญาของชุมชน เลือกซื้อสินค้าพื้นบ้าน ภูมิปัญญาชุมชน ชมภาพถ่ายโบราณฟังเรื่องเล่าเมืองเก่า เขลางค์นคร การแสดงจ้อยซอเล่าเรื่องเมืองเก่า การแสดงวัฒนธรรมเยาวชนพื้นบ้าน

เชิญชวนนักท่องเที่ยวนั่งรถรางชมเมืองเก่า ฟังเรื่องเล่ากว่าร้อยปีที่ผ่านมา หรือจะนั่งรถม้า ชมเมืองสัมผัสความแปลกใหม่หนึ่งเดียวในประเทศ ฟังเสียงม้าวิ่ง พร้อมฟินกับบรรยากาศเมืองเก่า หรือจะปั่นจักรยานแวะชิว แวะแชะ แวะแชร์ ตามเส้นทางเมืองเก่า เราก็มีให้เลือก

เส้นทางรถรางท่องเที่ยว

09.00 น. รถรางพร้อมคณะนักท่องเที่ยวออกจากมิวเซียมลำปาง เพื่อพาไปยังชุมชนท่ามะโอ
- ชมบ้านหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2448 นับถึงปัจจุบันน่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 113 ปี เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่ผสมผสานศิลปะการก่อสร้างแบบไทยได้อย่างลงตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
- ชมบ้านเสานัก บ้านไม้สักโบราณอายุร่วม 100 กว่าปี มีเสาบ้านร้อยกว่าต้น ที่มีนามว่า “บ้านเสานัก” ภาษาเหนือ ที่แปลว่า “บ้านเสามาก” ชื่อนี้มีที่มาจาก หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ตั้งชื่อให้ เนื่องด้วยเป็นบ้านเรือนไม้สักที่มีเสาจำนวนมากถึง 116 ต้น ลักษณะเป็นบ้านไม้สักทรงไทย การก่อสร้างเป็นแบบศิลปะพม่าผสมล้านนา หลังคาและโครงสร้างเป็นแบบล้านนา ส่วนระเบียงรอบบ้านแสดงความเป็นพม่าผสมผสานกันได้อย่างลงตัว 
บ้านเลขที่ 1 อาคารเรือนไม้บ้านร้อยปี / บ้านเลขที่ 1 ถนนป่าไม้เขต ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง ลักษณะเป็นอาคารเรือนไม้ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรม ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เป็นเรือนปั้นหยาหลังคาทรงสูง
ครึ่งปูนครึ่งไม้ สร้างเมื่อปี2439 เดิมมีขื่อเรียกว่าสำนักงานป่าไม้ภาค ป่าไม้เขตลำปาง มีประวัติความเป็นมาของกิจการป่าไม้ในอดีตบริเวณรอบอาคารร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่เก่าแก่ ต้นไม้ในป่า บริเวณนี้ถือว่าเป็นโอโซนที่มีอากาศดีในชุมชนท่ามะโอ มีทางเดินชมแนวกำแพงเมืองเก่าเขลางค์นครรุ่นที่ 2 
ระหว่างนั่งรถรางนักท่องเที่ยวจะได้เห็นแนวกำแพงเมืองเก่า ซึ่งเป็นร่องรอยของกำแพงเมืองเก่าที่เป็นแนวกำแพงเมืองเก่าเขลางค์นครรุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 
- ชมวัดประตูป่อง เจดีย์วิหารสร้างเมื่อ พ.ศ. 2409 โดยเจ้าญาณรังษี ผู้ครองนครลำปาง โบสถ์เป็นฝีมือช่างสิบสองปันนา มีศิลปะลายจีนผสม มีสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ ประตูเมืองโบราณ (ประตูป่อง) มีซากหอรบสมัยพระยากาวิละครองนครลำปาง เป็นปราการต่อสู้ทัพพม่าครั้งสำคัญ เมื่อ พ.ศ.2330 นอกจากนี้ยังมีเงาพระธาตุกลับหัวในวัดอีกด้วย
- ชมบ้านท่าเก๊าม่วง>ที่นี่เคยเป็นบ้านถิ่นกำเนิดของหลวงพ่อเกษม เขมโก พระเกจิชื่อดังชาวลำปาง โดยบริเวณนี้เรียกว่า “ท่าเก๊าม่วง” หรือท่าน้ำที่มีต้นมะม่วงมาก
- ชมกู่เจ้าย่าสุตา สันนิษฐานเป็นซุ้มประตูโขงของวัดกากแก้วในอดีต เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาที่มีลวดลายปูนปั้นเทวดาอยู่ทั้ง 4 มุม ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2523
- ชมวัดท่ามะโอ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2437 อุบาสกชาวพม่าชื่อ “อูจันทณ์โอง” เป็นผู้สร้าง นอกจากนี้ยังเป็นวัดพม่าที่มีเจ้าอาวาสเป็นชาวพม่าแต่กำเนิดทีมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี คือ หลวงพ่อ พระธัมมานันทมหาเถระธัมมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต

12.00น. จากนั้นรถรางจะส่งนักท่องเที่ยวที่ มิวเซียมลำปาง นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวที่มิวเซียมลำปางต่อ จนถึงเย็นแล้วสามารถเดินลัดเลาะจากมิวเซียมลำปาง เพื่อไปเที่ยวกาดกองต้า ซึ่งมีนิทรรศการ 14 ปีถนนคนเดินกาดกองต้า-สถาปัตยกรรมสะท้อนคุณค่าเป็นมากกว่าถนนคนเดิน ให้ได้ชมอีกด้วย