เมืองลำปางเป็นบ้านที่มีความสุขของทุกคน " A Happy Home For All "

ศูนย์รวมข่าวสาร
ข่าวประชาสัมพันธ์

แจงเหตุ โครงการปรับปรุงสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี

        ดร.กิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง พร้อมคณะผู้บริหาร จัดแถลงข่าวสื่อมวลชนประเด็นการปรับปรุงสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี (หลังวัดเกาะ) โดยมีสื่อมวลชนในจังหวัดลำปาง และตัวแทนภาคประชาชนร่วมรับฟัง ในวันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ เทศบาลนครลำปาง

             ดร.กิตติภูมิ เปิดเผยว่า สะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี แต่เดิมแล้วในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการทำขัวแตะข้ามระหว่างฝั่งกาดกองต้า ไปฝั่งปงสนุก เพื่อที่จะทำบุญขนทรายเข้าวัดที่วัดปงสนุก หลังจากนั้นเมื่อปี พ.ศ.2525 มีการเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ครบ 200 ปีก็เลยสร้างสะพานนี้มาแทนขัวแตะเดิม เป็นต้นมา สำหรับแนวคิดในการก่อสร้างสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีเหตุผลประการแรก คือ ในปัจจุบันสะพานแห่งนี้เริ่มชำรุดทรุดกลาง พร้อมที่จะพังได้ทุกเมื่อ ประการที่สองในช่วงน้ำหลากมักจะมีกิ่งไม้ ใบไม้ ผักตบชวา มาติดบริเวณตอม่อสะพานทำให้การไหลเวียนของน้ำไม่สะดวก ประการที่สามในวันเสาร์-อาทิตย์ มีกิจกรรมถนนคนเดินกาดกองต้า มักมีปัญหาเรื่องที่จอดรถ สะพานนี้จะเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกาดกองต้าและชุมชนปงสนุก สามารถขยายพื้นที่การจัดกิจกรรมและสถานที่จอดรถมายังชุมชนปงสนุกได้ ประการที่สี่ แต่เดิมประเพณีล่องสะเปาจาวละกอน จะจัดขึ้นบริเวณหลังจวนผู้ว่าฯ แต่พอมีสะพานฯ ก็ไม่สามารถปล่อยขบวนสะเปาได้ จึงต้องย้ายไปจัดที่เขื่อนยาง และโรงพยาบาลแวนแซนวูดส์ในปัจจุบัน จึงต้องการยกสะพานให้สูงขึ้นและรื้อฟื้นวิถีดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติกันมา และประการสุดท้ายคือ เป็นการเตรียมการรองรับปัญหาในอนาคตซึ่งอาจจะมีการบูรณะซ่อมแซมสะพานรัษฏาฯ สะพานแห่งนี้จะสามารถรองรับปัญหาการจราจรได้

           ส่วนรูปแบบในการสร้าง อยู่ระหว่างการดำเนินการออกแบบอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยวิศวกรที่ได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพโดยรอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ หรือถ้าจะเกิดก็ให้มีผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด โดยเน้นในเรื่องการปรับปรุงสะพานให้มีความสูงเพิ่มขึ้น กว้างขึ้น ปลอดภัย และสวยงามขึ้น ยืนยันไม่ใช่แบบแปลนสำหรับการคมนาคม แต่เน้นให้เป็นสะพานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อันเป็นการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์สองฝั่งแม่น้ำวัง (ฝั่งปงสนุก กับกาดกองต้า) ในส่วนของเอกสารต่าง ๆ ตอนนี้ใกล้สมบูรณ์แล้ว และหลังจากนี้เอกสารแบบแปลนต่าง ๆ พร้อมแล้ว เทศบาลจะทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ตามขั้นตอน เพราะเป็นเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่มีความที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชุมชน สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณีของคนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ต้องอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่ เทศบาลต้องฟังเสียงของประชาชนตามวิถีแห่งประชาธิปไตยต่อไป